ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่ทวีความรุนแรง จรรยาบรรณและหลักปฏิบัติวิชาชีพจึงมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบธุรกิจโดยรวม
จรรยาบรรณเป็นหลักการในการทำงานที่พนักงานพึงปฏิบัติด้วยจิตสำนึกที่มี คุณธรรมและมีความเสมอภาค ไม่ว่าหลักการปฏิบัติจะกำหนดไว้หรือไม่ เป็นการเปลี่ยนระบบจากการควบคุมเป็นการกำกับและดูแล โดยไว้วางใจในความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน จรรยาบรรณเป็นเรื่องของสามัญสำนึกในจิตใจหรือมโนธรรม เป็นสิ่งที่สูงกว่าข้อบังคับทางกฎหมาย เป็นอุดมคติในการประกอบวิชาชีพ
ดังนั้น เพื่อให้พนักงานทุกท่านในทุกระดับชั้นมีจรรยาบรรณที่ดี เพื่อสร้างภาพพจน์และชื่อเสียงที่ดีสู่องค์กร บริษัทฯ จึงได้กำหนดแนวทางในการประกอบธุรกิจขึ้นเพื่อให้พนักงานทุกท่านยึดถือเป็น แนวทางในการปฏิบัติงาน
หลักการจรรยาบรรณของบริษัทฯ (Principles)
บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทาง โดยใช้หลักเช่นเดียวกันกับแนวทางในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เรื่อง แนวทางในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ของสำนักงานคณะ กรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2543 และนำมาปรับใช้กับธุรกิจด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้พนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด (Code of Best Practice)
ความซื่อสัตย์ ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ
บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์และสุจริต รวมทั้ง ให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม และมีความโปร่งใส นอกจากนี้ ต้องไม่ดำเนินการใด ๆ อันเป็นการละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิเสธความรับผิดชอบ ที่บริษัทฯพึงมีต่อลูกค้าที่สุจริต
การประกอบธุรกิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
- บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจด้วยความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญ ความระมัดระวัง และความเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำ รวมทั้ง ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ และจัดให้มีระบบรองรับการดำเนินธุรกิจและระบบควบคุมภายในอย่างเหมาะสม และมี ประสิทธิภาพ
การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนด
- บริษัทฯ มีการปฏิบัติตามมาตรฐานที่ดีในการประกอบธุรกิจ และต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยองค์กรกำกับดูแล รวมทั้ง คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือกฎระเบียบดังกล่าวด้วย และ ไม่กระทำการช่วยเหลือ หรือยอมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการละเว้น หรือ หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบดังกล่าว
การรู้จักลูกค้า
- บริษัทฯ ควรมีข้อมูลของลูกค้าอย่างเพียงพอ เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสม
การเปิดเผยข้อมูลแก่ลูกค้า
- บริษัทฯมีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และเหมาะสม ให้แก่ลูกค้าทราบอย่าง เพียงพอเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการกับบริษัทฯ รวมถึงการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน
การรักษาความลับของลูกค้า
- บริษัทฯ พึงรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า และป้องกันการนำข้อมูลที่อาจนำไปหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลหรือบุคคลอื่น ๆ
การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- บริษัทฯ มีมาตรการที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระหว่างบริษัทฯและลูกค้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการให้บริการแก่ลูกค้า
การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
- บริษัทฯต้องดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าให้ปลอดภัย และมีวิธีการที่เหมาะสมในการ ป้องกันมิให้ทรัพย์สินของลูกค้าเกิดความเสียหาย รวมถึงมีระบบการบันทึกข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้าที่สามารถระบุเจ้าของ ทรัพย์สินได้ทันที
การดำรงฐานะการเงิน
- บริษัทฯต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อฐานะและการ ดำเนินงานของบริษัทฯ รวมทั้งมีการวางแผนการจัดสรรเงินทุนให้เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดัง กล่าวและภาระผูกพันใดๆจากการดำเนินธุรกิจ
การให้ความร่วมมือกับองค์กรกำกับดูแล
- บริษัทฯมีนโยบายให้ความร่วมมือกับองค์กรกำกับดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความเป็นองค์กรที่สามารถกำกับดูแลตนเอง